Wednesday 7 November 2007

วิธีการคำนวณสูตรปุ๋ย

พอดีช่วงนี้ต้องคำนวณสูตรปุ๋ยบ่อยๆ จึงคิดว่าควรเขียนลงบล๊อกไว้ด้วยดีกว่า เผื่อจะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป

ปุ๋ยเคมี มีธาตุอาหารหลักอยู่ 3 ธาตุด้วยกันคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ซึ่งจะแสดงไว้ในสูตรปุ๋ยเป็นลำดับของตัวเลขสามชุด เช่น 16-16-8 หมายถึงปุ๋ยเคมีที่มี ไนโตรเจน 16% มีฟอสฟอรัส 16% และโพแทสเซียม 8% ตามลำดับ และธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ธาตุ สามารถได้จากแม่ปุ๋ยดังต่อไปนี้

ยูเรีย (Urea) 46-0-0 แม่ปุ๋ยสำหรับธาตุไนโตรเจน
แดป (Di-Ammonium Phosphate - DAP) 18-46-0 แม่ปุ๋ยสำหรับธาตุฟอสฟอรัส
มอป (Muriate of Potash - MOP) 0-0-60 แม่ปุ๋ยสำหรับธาตุโพแทสเซียม

หากเราต้องการนำแม่ปุ๋ยทั้งสามตัวมาผสมกันเพื่อให้ได้สูตร 16-16-8 จำนวน 100 กก. สามารถคำนวณได้ดังนี้

1. คำนวณหาปริมาณของ แดป ที่ต้องใช้

สาเหตุที่ต้องคำนวณหาปริมาณของแดปก่อน เนื่องจากแดปเป็นแม่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารมากกว่าหนึ่งตัว คือ ให้ทั้ง ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน
จากสูตรแม่ปุ๋ยของแดป 18-46-0 หมายความว่า แดป 100 กก. ให้ฟอสฟอรัส 46 กก. และให้ไนโตรเจน 18 กก.
จากสูตร 16-16-8 เราต้องการฟอสฟอรัสเพียง 16 กก. ดังนั้นต้องใช้ แดป เท่ากับ (100 x 16)/46 = 34.78 กก.
แต่เนื่องจาก แดป มีปริมาณของไนโตรเจนด้วย ดังนั้นเราต้องคำนวณด้วยว่า ใน แดป 34.78 กก. จะมีไนโตรเจนเป็นปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้
แดป 100 กก.ให้ไนโตรเจน 18 กก. ดังนั้น แดป 34.78 กก. จะให้ไนโตรเจน เท่ากับ (18 x 34.78)/100 = 6.26 กก.

2. คำนวณหาปริมาณของ ยูเรีย ที่ต้องใช้
จากสูตร 16-16-8 เราต้องการไนโตรเจนเพียง 16 กก. แต่เนื่องจากเราได้ไนโตรเจนส่วนหนึ่งมาจากแดปแล้วคือ 6.26 กก. เราจึงต้องการไนโตรเจนเพิ่มเติมอีกเพียง 16 - 6.26 = 9.74 กก.
จากสูตรแม่ปุ๋ยของยูเรีย 46-0-0 หมายความว่า ยูเรีย 100 กก. ให้ไนโตรเจน 46 กก.
แต่ในขณะนี้เราต้องการไนโตรเจนแค่ 9.74 กก. ดังนั้นต้องใช้ ยูเรีย เท่ากับ (100 x 9.74)/46 = 21.17 กก.

3. คำนวณหาปริมาณของ มอป ที่ต้องใช้

จากสูตรแม่ปุ๋ยของมอป 0-0-60 หมายความว่า มอป 100 กก. ให้โพแทสเซียม 60 กก.
จากสูตร 16-16-8 เราต้องการโพแทสเซียมเพียง 8 กก. ดังนั้นต้องใช้ มอป เท่ากับ (100 x 8)/60 = 13.33 กก.

สรุป ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 เราต้องใช้แม่ปุ๋ยดังนี้
ใช้ ยูเรีย ปริมาณเท่ากับ 21.17 กก.
ใช้ แดป ปริมาณเท่ากับ 34.78 กก.
ใช้ มอป ปริมาณเท่ากับ 13.33 กก.
รวมแล้วเท่ากับ 69.28 กก. ซึ่งได้น้ำหนักรวมไม่ถึง 100 กก. ดังนั้นเราต้องเติมสารเติมเต็มหรือฟิลเล่อร์เข้าไปเพิ่มเติมอีก 100 - 69.28 = 30.72 กก. เพื่อให้ปุ๋ยมีน้ำหนักครบ 100 กก. ตามกำหนด

สารเติมเต็มหรือฟิลเล่อร์ คือ สิ่งที่ใช้เพิ่มเติมเข้าไปในปุ๋ยเคมีเพื่อให้น้ำหนักครบตามกำหนด ต้องไม่เป็นวัตถุที่มีผลกระทบต่อธาตุอาหารหลักทั้งสามตัว และต้องสามารถคลุกเคล้าเข้ากับแม่ปุ๋ยได้เป็นอย่างดี เช่น ดิน โดโลไมท์ ปูนขาว ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม เป็นต้น

วิธีการคำนวณข้างต้นดังกล่าว เป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้ แม้ว่าแม่ปุ๋ยที่นำมาผสมจะไม่ใช่แม่ปุ๋ยสามตัวที่ผมยกตัวอย่าง เนื่องจากปัจจุบันมีแม่ปุ๋ยมากมายหลายชนิดออกมาสู่ท้องตลาด และเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะแม่ปุ๋ยสามตัวหลักนี้ราคาได้ปรับขึ้นสูงมาก

4 comments:

hotdrags said...

ขอบคุนคับ

สอนขอบรถยนต์ Driving said...

ขอบคุณมากครับ สำหรับการแบ่งปันดีๆ มีสูตรปุ๋ยสำหรับใส่ยางพารา แถวภาคอิสานไหมครับ

สอนขอบรถยนต์ Driving said...

ขอบคุณมากครับ สำหรับการแบ่งปันดีๆ มีสูตรปุ๋ยสำหรับใส่ยางพารา แถวภาคอิสานไหมครับ

Unknown said...

ทำข้าวโพดหลังนาข้าว การใส่ปุ๋ยของแต่ละรอบ ใช้สูตรใหนดีบ้างอ่ะ